Accessibility Tools

ศาลจังหวัดยโสธร
Yasothon Provincial Court
image

ศาลจังหวัดยโสธร

การไกล่เกลี่ยออนไลน์image

การไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์ (Online Mediation)

        ในปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบออนไลน์เป็นกระบวนการที่มีการใช้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์ประเภทอื่น ๆ เนื่องจากวิธีการนี้มีจุดเด่นที่ไม่มีลักษณะของการบังคับให้เข้าสู่กระบวนการ คู่พิพาทจะใช้กระบวนการนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคู่พิพาทอย่างแท้จริง นอกจากนั้นวิธีการดำเนินการค่อนข้างจะมีความยืดหยุ่นสูงโดยคู่พิพาทอาจจะเลือกขั้นตอนและเวลาที่จะดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆได้อย่างค่อนข้างสะดวกเต็มที่โดยอาศัยประโยชน์เต็มที่โดยอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ ประการสำคัญคือคู่พิพาทแต่ละฝ่ายเป็นผู้ควบคุมผลสุดท้ายของกระบวนการเอง โดยเงื่อนไขข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคู่พิพาทแต่ละฝ่าย ดังนั้น คู่พิพาทจึงมีความรู้สึกสะดวกใจมากกว่าที่จะใช้กระบวนการนี้ในการระงับข้อพิพาทของตนเพราะรู้สึกว่าอย่างน้อยโอกาสที่ตนจะสูญเสียจากกระบวนการนี้จะมีน้อยกว่าสิ่งที่ตนจะได้

          กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบออนไลน์ที่ใช้กันมากคือวิธีการที่เรียกว่า “กระบวนการแบบสามห้อง (Three-room Procedure)” เมื่อหน่วยงานที่ให้บริการระงับข้อพิพาทได้รับข้อร้องเรียนจากคู่พิพาทฝ่ายหนึ่ง หน่วยงานนั้นจะติดต่อไปยังคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อร้องเรียนและสอบถามความสมัครใจของคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งนั้นว่าประสงค์จะเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์หรือไม่ ในบางกรณีอาจจะมีการให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายทำความตกลงเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนเช่นความตกลงที่จะไม่นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบในการไกล่เกลี่ยไปอ้างอิงในการฟ้องร้องคดีต่อศาลหรือกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น ในกระบวนการไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์จะมีการจัดช่องทางผ่านเว็บไซต์ให้คู่พิพาทและผู้ไกล่เกลี่ยสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยแบ่งช่องทางดังกล่าวออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ไกล่เกลี่ยกับคู่พิพาทฝ่ายแรกส่วนที่สองเป็นช่องทางระหว่างผู้ไกล่เกลี่ยกับคู่พิพาทฝ่ายที่สองและส่วนสุดท้ายเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ไกล่เกลี่ยกับคู่พิพาททั้งสองฝ่าย โดยในแต่ละส่วนจะมีรหัสเฉพาะสำหรับผู้ที่มีสิทธิเข้าใช้ช่องทางนั้น ๆ ช่องทางเฉพาะสำหรับผู้ไกล่เกลี่ยและคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นช่องทางที่ผู้ไกล่เกลี่ยสามารถใช้รวบรวมข้อมูลที่เป็นที่มาและสาเหตุของเป็นหา โดยเฉพาะข้อมูลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่สะดวกใจที่จะกล่าวถึง “ต่อหน้า” หรือให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ในส่วนช่องทางที่ผู้ไกล่เกลี่ยและคู่พิพาททั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงได้นั้นจะเป็นช่องทางหลักในการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาจากแต่ละฝ่ายและเป็นเวทีของการเจรจาต่อรองโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยเป็นผู้คอยให้คำแนะนำถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและเป็นไปได้

          การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ ของศาลจังหวัดยโสธร เมื่อคู่ความติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ย หรือส่วนเจ้าพนักงานคดี แจ้งความประสงค์ขอไกล่เกลี่ย เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้คู่ความติดตั้ง แอปพลิเคชัน Google Meet, Zoom หรือ Cisco Webex และติดตั้งแอปพลิชัน Adobe Fill & Sigh ไว้ ใช้ในการลงลายมือชื่อ หลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่ประสานคู่ความ(โจทก์ จำเลย)  และคู่ความพร้อมที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยแล้ว เจ้าหน้าที่จะสร้างกลุ่มไลน์ตามเลขคดีของศาลจังหวัดยโสธรและเชิญคู่ความเข้ามาในกลุ่มไลน์ จากนั้นจะส่งลิงค์ ห้องประชุมเข้ามาในไลน์เพื่อให้คู่วามได้เจรจากันผ่านช่องทางออนไลน์ ทาง Google Meet ถ้าตกลงเงื่อนไขกันได้ คู่ความสามารถลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ทันที จากนั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ย จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์เพื่อ ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือผู้พิพากษาเวรไกล่เกลี่ย พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คู่ความที่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น

                                                                                                                                               ชนาธิป  พาลพล

                                                                                                                                       เจ้าพนักงานคดีศาลจังหวัดยโสธร